พอได้ฟังคำว่าการแข่งขันเกมออนไลน์แล้วคนส่วนใหญ่ก็ต้องพลันนึกไปถึงว่าการเล่นเกมในแต่ละรอบนั้นคงต้องอาศัยการใช้อินเทอร์เน็ตเป็นแน่ จนบางครั้งก็หลงลืมความน่าจะเป็นที่จะเกิดกรณีสุดร้ายแรงที่ไม่น่าพิสมัยนัก เป็นต้นว่าระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเกิดหลุดกลางคันระหว่างการแข่งขันทัวร์นาเมนต์ที่ยิ่งใหญ่ในรอบชิง และใกล้จะได้ผลแพ้ชนะอยู่รอมร่อ แต่เกมดันหลุดออกมาเพราะสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ไม่เสถียร แล้วสิ่งใดจะเยียวยาโอกาสและความรู้สึกที่เสียไปของทั้งทีมนักแข่งและกองเชียร์ได้ล่ะ

LOL แมทช์ประวัติศาสตร์

จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงคือการแข่งขันเวิล์ดแชมเปี้ยนชิปซีซั่นสอง ในปี 2012 ณ ลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา ที่นับว่าเป็นงานอีสปอร์ตที่ยิ่งใหญ่มากนับตั้งแต่ทางไรออต (บริษัทผู้พัฒนา) เคยจัดมา ระหว่างการแข่งขันรอบกลุ่มแปดทีมสุดท้ายที่ดุเดือดและเข้มข้น แต่ละทีมกำลังสู้ยิบตาและผลแพ้ชนะน่าจะได้ออกมาในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้า อินเทอร์เน็ตก็เกิดล่มขึ้นมา นั่นถือเป็นปัญหาที่ทิ่มแทงหัวใจทีมงานผู้พัฒนาเป็นอย่างมาก พวกเขาพยายามดำเนินการแก้ไขกันอย่างสุดฝีมือ แต่เกมนั้นได้หลุดลอยและหายไปพร้อม ๆ กับสัญญาณอินเทอร์เน็ตซะแล้ว ไม่ใช่แค่ครั้งเดียว แต่ปัญหาการติดขัดนี้ล่วงเลยไปถึง 7 ชั่วโมง

เสียงโห่ร้องของแฟน ๆ เริ่มดังขึ้นมาจนถึงบนเวที ซึ่งทางผู้พัฒนาอย่างแบรนดอนที่ห่วงใยและซึ้งใจกับการอดทนรอคอยการแข่งขันนี้ติดต่อกันหลายชั่วโมงของทั้งกองเชียร์และเหล่าผู้เล่นเองก็แก้ไขปัญหาด้วยการคืนค่าตั๋วให้กับทุกคน อีกทั้งยังมอบไรออตพอยท์ให้กับทุก ๆ คนเป็นจำนวน 25 ดอลลาร์

ตอนที่เขากำลังประกาศเรื่องนี้ เสียงโห่ร้องด้วยความดีใจก็กลับมาอีกครั้ง ทั้งยังแจกของที่ระลึกที่อยู่ในร้านค้าให้กับผู้ชมแบบฟรี ๆ อีกด้วย ยังไม่พอ ทางทีมผู้พัฒนายังสั่งพิซซ่ามาเลี้ยงให้กับทุกคนที่อยู่ที่นั่น เรียกได้ว่าการซื้อใจแฟน ๆ เกมด้วยการให้ใจก่อน ทำให้เสียงตะโกนร้องว่าไรออตยิ่งดังขึ้นเรื่อย ๆ นับเป็นจุดสำคัญที่เชื่อมความสัมพันธ์ของผู้เล่นและผู้สร้างเข้าไว้ด้วยกัน อีกทั้งยังเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดทีมสร้างเซิฟเวอร์แบบออฟไลน์ขึ้นมา เพื่อรองรับการแข่งขันต่าง ๆ  และหลังจากนั้นเป็นต้นมา การแข่งขัน LOL ก็มีความเสถียร เที่ยงตรงและยุติธรรม แบบไม่มีอาการแล็กหรืออินเทอร์เน็ตหลุดมากวนใจเหล่าผู้เล่นและผู้ชมอีกเลย

E-sport กับโลกแห่งอนาคต

อะไรกันที่ตัดสินความเป็นกีฬา การได้ออกท่าทางหรือเสียเหงื่อหรือถึงจะเรียกว่ากีฬา ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว หลังตกเป็นข้อถกเถียงมาเนิ่นนาน การแข่งขันเล่นเกมก็กำลังจะถูกจัดแข่งในมหกรรมกีฬาระดับโลกอย่าง โอลิมปิก 2020  ด้วยเงินรางวัลเดิมพันกว่า 15 ล้านบาท ถึงจะไม่ได้เหรียญแบบเป็นทางการก็ตาม แต่นับว่าเป็นอีกก้าวสำคัญของวงการ E-sport ทีเดียวที่เข้าใกล้คำว่ากีฬาไปอีกขั้น แต่ในขณะเดียวกัน E-sport ก็ยังถูกตั้งคำถามในตัวของมันเสมอว่าสมควรถูกเรียกรวมกับกีฬาจริงหรือ

เครดิตภาพ : https://unsplash.com/photos/WcrqKjgMPfI